ศรีสะเกษ สสส.จับมือ 8 อปท.ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

9

ที่โรงแรมศรีพฤทธาลัย ราชภัฏสัมมนาคาร อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ   นางจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชนพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย นายประกาศิต กายะสิทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส.   อบต.ดวนใหญ่ ในฐานะ “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” และ  อปท.เครือข่าย 8 อปท. ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนงาน ภายใต้โครงการสานพลังภาคีเครือข่ายท้องถิ่นน่าอยู่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ซึ่ง อปท.ทั้ง 8 แห่ง ได้นำเอาผลงานการดำเนินงานและสินค้าพื้นเมืองจำนวนมาก มาจัดแสดงนิทรรศการเพื่อให้ผู้มาร่วมงานทุกคนได้ชม โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มาเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก

นายสิทธิชัย วิลัยเลิศ นายก อบต.ดวนใหญ่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ ในฐานะศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน กล่าวว่า อบต.ดวนใหญ่ ทำงานกับ สสส. ตั้งแต่ปี 2558 โดยขับเคลื่อนการทำงานในประเด็นการดูแลสุขภาพมาตลอด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอาหารปลอดภัย และประเด็นผู้สูงอายุ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายขึ้นในชุมชน จนถึงขณะนี้มีความพร้อมทำหน้าที่เป็น “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย 8 อปท. ได้แก่ อบต.ศรีสำราญ เทศบาล ต.บุสูง อ.วังหิน , เทศบาล ต.สิ อบต.ห้วยจันทร์ อ.ขุนหาญ , อบต.บึงมะลู อ.กันทรลักษ์ , อบต.ผักแพว อ.กันทรารมย์ , อบต.อีเซ  อบต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะทำงานร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันในมิติสุขภาพ 5 ประเด็นหลัก คือ การพัฒนารูปแบบการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีแบบมีส่วนร่วม การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การสร้างโอกาสด้านอาชีพเพื่อลดจำนวนผู้ว่างงาน ผู้ด้อยโอกาส การสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัย และหมู่บ้านจัดการตนเอง

นายสิทธิชัย กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่ต้องขับเคลื่อนใน 5 ประเด็นหลักนี้เพราะว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ชาวศรีสะเกษเสียชีวิตเพราะมะเร็งท่อน้ำดีมากกว่า 300 คน คิดเฉลี่ยเท่ากับเสียชีวิต 1 คน/วัน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากโรคพยาธิใบไม่ในตับ จึงเห็นว่าเป็นประเด็นที่ต้องเร่งรีบแก้ไขร่วมกัน ประเด็นการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุนั้น ก็เพื่อให้เกิดการดูแลผู้สูงอายุแบบยั่งยืนเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย เป็นต้น การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย ทั้ง 8 อปท. จะต้องทำงานกับประเด็นท้าทายในชุมชนของตนเองมากกว่าที่เราชวน เพราะหลังจากเขาใช้เครื่องมือสำรวจข้อมูล พบต้นทุนในพื้นที่ จะทำให้ทราบว่าพื้นที่ของตัวเองมีประเด็นใดที่ต้องขับเคลื่อน พื้นที่ต่างกันความท้าทายของทำงานก็ต่างกันไปด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเราก็ยังเป็นพี่เลี้ยงดูให้ตลอด

นายประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3)  กล่าวว่า สสส. ได้ทำหน้าที่เข้ามาหนุนเสริม สนับสนุนองค์กรหลักๆในพื้นที่เพื่อพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการ โดยการนำชุดความรู้ต่างๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือให้ชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนไปด้วยกัน การใช้ข้อมูลเพื่อสำรวจดูทุนเดิมในชุมชนของตนเองว่า มีอะไรอยู่บ้าง มีปัญหาอะไร เพื่อจะได้ช่วยกันจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตรงตามความต้องการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม อบต.ดวนใหญ่ ซึ่งทำงานร่วมกับ สสส. ตั้งแต่ ปี 2558 เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ผ่านกระบวนการดังกล่าว และสามารถจัดการชุมชนของตัวเองได้อย่างดีมีความเข้มแข็ง จึงเกิดการขยายผลชักชวนเพื่อนอีก 8 อปท. มาร่วมกันเป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ด้วยกัน เป็นการสานพลังและส่งต่อพลังของชุมชนท้องถิ่น ให้ขยายวงกว้างออกไปเป็นเครือข่ายที่สามารถโยงใยคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมหนุนเสริมการขับเคลื่อนสู่สุขภาวะชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป/

ภาพ / ข่าว  ศิริเกษ  หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here