ที่ ห้องประชุมเทศบาลนครยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา นายอำนาจ ชูทอง รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา นายมูฮัมหมัด ริซวาน อบู ยาซิด กงสุลใหญ่มาเลเซีย จังหวัดสงขลา นางอภิญญา สุวรรณ วัฒนธรรมจังหวัดยะลา และ นางสาวรัตนา ไมสัน ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “ปากายัน มลายู”ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 5 – 7 สิงหาคม 2565 นี้ ณ อาคารอุทยานการเรียนรู้ TK park เทศบาลนครยะลา

นายอำนาจ ชูทอง รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จังหวัดยะลาถือเป็นจังหวัดที่ดำรงความเป็นพหุวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน เพราะมีความแตกต่างกันทั้งด้านเชื้อชาติ ภาษา และศาสนาแต่ชนทุกกลุ่มยังคงรักษาวิถีชีวิตและประเพณีของตนไว้อย่างเหนียวแน่น ประกอบกับข้อมูลทางประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้านการแต่งกาย ชาวยะลาปัจจุบันแต่งกายกันตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ ซึ่งปัจจุบันพบว่าใน แต่ละพื้นที่ในจังหวัดยะลามีการจำหน่ายเสื้อผ้ามลายูจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสทางเศรฐกิจในการสร้างเมืองยะลาให้เป็นผู้นำแฟชั่น เป็นศูนย์กลางแหล่งรวมเสื้อผ้ามลายูนานาชนิด นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจน มีการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความรู้ด้านการการออกแบบดีไซน์ ตัดเสื้อผ้าเอง ขายเอง นำออกมาจำหน่ายสู่ตลาดออนไลน์ อย่างกว้างขวาง

ทางด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า สำหรับเมืองยะลามีร้านขายผลิตภัณฑ์ผ้าและร้านขายเสื้อผ้าเป็นจำนวนมาก และได้แต่สงสัยในใจว่าเค้าจะขายให้ใคร เมื่อได้รับรู้จากผู้ประกอบการเมื่อครั้งจัดการประชุมระดมความคิดเห็น จึงได้ทราบว่ายะลามีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการขายออนไลน์และการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านแต่ก็ยังมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่ยังต้องการการสนับสนุนด้านความรู้ การออกแบบแฟชั่น การเพิ่มมูลค่าสินค้า การพรีเซ็นสินค้า การเข้าใจธุรกิจสินค้าแฟชั่น การสร้างแบรนด์ และการทำตลาดสินค้าแฟชั่น เพื่อให้การผนึกกำลังผู้ประกอบการจำหน่ายผ้าในจังหวัดยะลา ผู้ผลิตผ้าพื้นเมือง นักออกแบบผ้าดีไชน์เนอร์ สามารถสร้าง House Brand เพื่อเป็นผู้นำแฟชั่น เทศบาลนครยะลาจึงได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในวงการแฟชั่น จากสถาบันแฟชั่น Bangkok FA มาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ประชาชน และนักเรียน นักศึกษาไปเมื่อวันที่ 19- 21 กรกฎาคม 2565

นายกเทศมนตรีนครยะลา ยังกล่าวอีกว่า การต่อยอดในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นในวงการแฟชั่น มลายู หรือ “ปากายัน มลายู” จึงมีความคิดจัดเวทีการประกวดออกแบบลายผ้า และออกแบบ เครื่องแต่งกายให้ผู้ประกอบการผ้า ผู้ผลิตผ้าพื้นเมือง นักออกแบบผ้า ดีไชน์เนอร์ ได้มีโอกาสส่งผลงานการออกแบบลายผ้า และการออกแบบดีไซด์แฟชั่นมลายู เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการตื่นตัวในการแข่งขัน และผลักดันเมืองยะลาให้เป็นศูนย์กลางแฟชั่นผ้ามลายู

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การเสวนาทางวิชาการ “การสร้างแบรนด์และเพิ่มมูลค่าแฟชั่นผ้ามลายูสู่สากล”กิจกรรมการตัดสินการประกวด 2 ประเภท คือ ออกแบบลายผ้า (มีผู้สมัครเข้ารับการประกวด จำนวน 31 ราย ผ่านเข้ารอบ การคัดเลือก วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 จำนวน 10 ราย เพื่อตัดสินรางวัลที่ 1 – 3 ) และออกแบบเครื่องแต่งกาย (มีผู้สมัครเข้ารับการประกวด จำนวน 65 ราย ผ่านเข้ารอบการคัดเลือก วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 จำนวน 19 ราย เพื่อตัดสินรางวัลที่ 1 – 3) นอกจากนี้ มีกิจกรรมการเดินแฟชั่นโชว์ ไม่น้อยกว่า 40 ชุด ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่ชนะการประกวดในครั้งนี้ เครื่องแต่งกายแฟชั่นมลายูจากประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย และประเทศบรูไน รวมทั้งเครื่องแต่งกายจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ซึ่งในทุกวันจะมีการจัดนิทรรศการ Workshop ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ หรือ ยังดีไซน์เนอร์ ให้สานต่อการออกแบบ การออกร้านจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายมลายู จากผู้ประกอบการในประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย

ภาพ-ข่าว อะหมัด รามันห์สิริวงศ์/ยะลา/