ที่ นิคมสร้างตนเองท้ายเหมืองจังหวัดพังงา อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา นายกันตพงศ์  รังษีสว่าง  ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดโครงการเปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลลำภีและตำบลทุ่งมะพร้าว กิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวและการประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแนวทางการตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมีนายวุฒิภากรณ์  จันทร์ทับ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพังงา,นางวิไลวรรณ บุญอมร ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองท้ายเหมือง รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในจังหวัดพังงา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอ ท้ายเหมือง คณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลลำภีและตำบลทุ่งมะพร้าว อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้าร่วม

 นายวุฒิภากรณ์  จันทร์ทับ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพังงา กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีนโยบายในการขับเคลื่อนศูนย์การให้บริการด้านต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ให้มีการบูรณาการ การให้บริการในศูนย์เดียว จึงได้กำหนดให้มีการรวมศูนย์    การให้บริการต่างๆ นั้น โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล ในทุกพื้นที่ เพื่อพัฒนายกระดับให้เป็นศูนย์กลาง การบริการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Center)

หน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และภาคีเครือข่ายในจังหวัดพังงา จึงได้ร่วมกันดำเนินการให้มีการขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือสังคมระดับตำบลให้ครอบคลุมภารกิจการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง  ตามกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง ได้แก่ เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ให้ครอบคลุมการเข้าถึงการบริการตามภารกิจบทบาทหน้าที่ของทุกส่วนราชการ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งและเปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลลำภีและตำบลทุ่งมะพร้าว ณ  นิคมสร้างตนเองท้ายเหมืองจังหวัดพังงา อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการประชาชนกลุ่มเปราะบาง แบบบูรการการ และการมีส่วนร่วมของชุมชน

นายกันตพงศ์  รังษีสว่าง  ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า  ปัจจุบันยังมีประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและไม่สามารถเข้าถึงบริการข้อมูลข่าวสาร ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว    ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  ดังนั้น การขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์และเชิงพื้นที่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้มีนโยบายการขับเคลื่อนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ ศูนย์พัฒนาครอบครัว   ในชุมชน (ศพค.) ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ(ศพอส.) และศูนย์บริการคนพิการทั่วไปตำบล โดยยกระดับให้เป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และบริการต่างๆ ด้านสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ เป็นการให้บริการประชาชน อำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อราชการ  รวมถึงเพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้รับการคุ้มครองทางสังคม ลดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี สะดวก รวดเร็ว และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว (One Stop Service) 

โอกาสนี้ขอขอบคุณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในอำเภอท้ายเหมือง คณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลลำภี คณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลทุ่งมะพร้าว อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตำบลทุ่งลำภีและทุ่งมะพร้าว และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันสนับสนุนและขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือตำบลลำภีและทุ่งมะพร้าว สำหรับใช้เป็นศูนย์กลางการให้บริการพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ตำบลทุ่งลำภีและทุ่งมะพร้าวต่อไป

ภาพ-ข่าว เกศ จ.พังงา