นครราชสีมา เปิดโครงการ อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน ขับเคลื่อน สถานชีวาภิบาลตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข

3

ที่ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา นพ.สุเทพ  เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการ “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” โดยมีนายแพทย์ สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยพระอาจารย์แสนปราชญ์ ปัญญาคโม ประธานศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย แม่ชี ชาวบ้านและนักเรียนโรงเรียนในพื้นที่อ.โชคชัยนับร้อยคนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

โดยมีการเปิดป้ายโครงการอาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน พร้อมทั้งการแสดงจากนักเรียนจากโรงเรียนอนุบาลบัณฑิตน้อยอำเภอโชคชัยโดยเป็นการจำลองสวรรค์ชั้นต่างๆ มีเหล่าเทพเทวดานางฟ้าตัวน้อยจากสวรรค์ชั้นต่างๆ พร้อมทั้งยักษ์ครุฑผู้มีฤทธิ์ในสวรรค์ชั้นนั้นๆมาร่ายรำและเดินโชว์ตัวเป็นสีสันในงาน  มีการเดินเยี่ยมชมผู้ป่วยระยะท้าย แล้วร่วมเข้าเสวนาบรรยายโครงการอีกด้วย

นพ.สุเทพ  เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมที่มีจำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่อาจรักษาให้หายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สภาพของสังคมเช่นนี้ย่อมจะส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนของสังคมทั้งหมด ทั้งภาระของลูกหลานในการดูแลผู้สูงอายุจะมากขึ้น ภาระค่ารักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้เกิดการยื้อความตายทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยทั้งในส่วนที่เกิดจากตัวโรคเองและจากการรักษาที่ไม่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้การตายที่ควรเป็นไปอย่างสงบ  สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ กลับกลายเป็นการตายอย่างทุกข์ทรมานของทั้งตนเองและครอบครัว โครงการ “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” นับว่าเป็นต้นแบบนวัตกรรมของการขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตในสังคมไทย ที่มองเรื่องการดูแลระยะท้ายจะต้องมุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตและการบำบัดบรรเทา ความทุกข์ในทุกมิติ ทั้งทางกาย จิต อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการเจ็บป่วยจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทภารกิจของสำนักงานคณะกรรมสุขภาพแห่งชาติ (สช) ในการส่งเสริมสิทธิของการแสดงเจตนาตามมาตรา 12  พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550  ที่สำคัญคือ นิยามความหมายของ “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” หมายถึง  ผู้อุทิศตนเพื่อการตายดีวิถีพุทธ  ผู้สมัครเป็นอาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน  ไม่ต้องรอให้เสียชีวิตอย่างอาจารย์ใหญ่ทางการแพทย์  และยังสามารถทำประโยชน์ได้  ด้วยการนำความแก่  ความเจ็บ ความตาย มาบอกเล่าเป็นธรรมทาน  ที่สำคัญคือความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขในการยกระดับให้มีสถานชีวาภิบาลเกิดขึ้นทุกตำบล ประกอบกับกระแส Soft Power ของภาพยนตร์เรื่อง “สัปเหร่อ” ที่กำลังโด่งดังที่สุดในขณะนี้  จากคำพูดของสัปเหร่อที่ว่า “คนตายเป็นครู  คนอยู่คือนักเรียน” ภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อถึงทุกการตายว่าเป็นบทเรียนราคาแพงที่ต้องจ่ายด้วยลมหายใจ ให้เรียนรู้ว่าทุกความผิดพลาดเพียงวินาทีอาจจะทำให้จากโลกนี้ไปอย่างกระทันหัน  เรียนรู้ว่าร่างกายมีขีดจำกัด  ควรดูแลรักษาทนุถนอม เพราะวันหนึ่งมันจะเสื่อมสลายตามธรรมชาติ  ในขณะที่มีชีวิต จงมอบความรักความเมตตาให้กับคนสำคัญอย่างจริงใจ ภาพยนตร์สอนเรื่องการตายได้อย่างดี อย่างไรก็ดีก็ยังเป็นภาพยนตร์ แต่อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทานคือเรื่องจริง แก่จริง ตายจริง จึงเป็นโครงการฯที่น่าสนใจ และอาจจะเป็น Soft Power ของเราชาวสาธารณสุขก็ได้ในอนาคต เหตุปัจจัยเหล่านี้ก็จะส่งผลให้การขับเคลื่อนโครงการ อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล เกิดความยั่งยืนในงานดูแลผู้ป่วยแบบระยะยาว การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง  การดูแลผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต  สำนักงานคณะกรรมสุขภาพแห่งชาติ (สช) ยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด เป็นต้นแบบให้กับวัดทั่วประเทศได้นำรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งได้บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่เสนอต่อวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการแล้ว

ทั้งนี้ อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน หมายถึง ผู้อุทิศตนเพื่อการตายดีวิถีพุทธ โดยการทำหนังสือ แสดงเจตนาตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 คือ “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” ดังนั้น ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จึงร่วมกับ ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วย ระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด ใช้หนังสือแสดงเจตนาเป็น “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” ขับเคลื่อน ให้เกิดสถานชีวาภิบาลของจังหวัดนครราชสีมาขึ้นทุกตำบลตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเป้าหมาย 1000 คนใน 100 วัน

ภาพข่าว / อภิรักษ์ ศรีอัศวิน ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำ จ.นครราชสีมา

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here