ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนิยม ท่องเที่ยว ในรูปแบบใกล้ชิดธรรมชาติ พักโฮมสเตย์ ใกล้ชิดธรรมชาติ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เป็นอีกอำเภอหนึ่งที่ เรียกได้ว่ามีโฮมสเตย์ และกิจกรรมทางทะเลให้นักท่องเที่ยว ได้ทำกิจกรรมนอกเหนือจากมาพักผ่อน เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่มาก

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ในพื้นที่บริเวณแหลมเสียบญวน ตำบลบ่อคา อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ว่าในพื้นที่แห่งนี้มีชาวประมงที่ออกเรือ หาปลา และได้ เก็บเอาเศษขยะ ตามท้องทะเล เกาะต่าง ตามป่าชายเลน นำมาสร้างบ้าน และทำเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้มาพัก จึงได้เดินทางไปตรวจสอบ โดยโฮมสเตย์ดังกล่าวชื่อว่า  โกโจบ้านไม้ไผ่  ซึ่งตั้งอยู่กลางป่าของต้นโกงกาง ที่ขึ้นทึบสูง ใบเขียวขจีตัดเด่นกับท้องฟ้าและน้ำทะเลสีคราม เป็นป่าที่ยังคงอุมดสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งของอ่าวสวี จ.ชุมพร   พบนายสุริยกมล  หนูอิ่ม  อายุ 42  อยู่บ้านเลขที่ 2/3 ม.5  ต.ด่านสวี  อ.สวี จ.ชุมพร เจ้าของบ้านพัก กำลังกุลีกุจอขนไม้ไผ่ ที่เก็บมาจากทะเลลงจากเรือ มาลงกองไว้ที่โค่นต้นโกงกาง เพื่อเตรียมทำศาลาที่นั่งเล่นอีกจุดหนึ่งบนต้นโกงกาง

โดยนายสุริยกมล เปิดเผยว่า ตนเองมีอาชีพทำประมง ออกเรือ หาปลา จับปู ตกหมึก หาหอย จับกุ้ง และอื่นๆ ที่สามารถหาได้ตามช่วงฤดูกาลที่แตกต่างกันออกไป ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม ถึงที่มาที่ไปของบ้านไม้ไผ่หลังนี้ นายสุริยกมล เล่าให้ฟัง ว่าตนเองอยู่กับแม่ที่บ้านหลังนี้ 2 คน และมีความคิดที่อยากจะสร้างบ้าน ให้มีพื้นที่ด้านข้างมีที่พักส่วนตัว เป็นของตัวเอง แต่ตนเองไม่ได้มีเงินทุน ที่จะสามารถซื้อวัสดุอุปกรณ์มาสร้างได้ ในระหว่างที่ นั่งอยู่หน้าบ้าน ในช่วงมรสุม ก็จะมีไม้ไผ่ ที่ชาวประมง นำออกไปปักไว้ด้านหน้าทะเล เพื่อทำเป็นหลักหอย เมื่อช่วงมรสุมไม้ไผ่ ที่ปักไว้ ในจุดที่ไม่มีความแข็งแรงมากพอ ก็จะถูกคลื่นซัด มาบริเวณหน้าบ้านของตนเอง รวมไปถึง ตามป่าโกงกาง โดยรอบ ตนเองจึงมองว่าหากนำเอาเศษไม้ไผ่ที่ลอยมาสร้างบ้านก็จะช่วยลดขยะในท้องทะเลและยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย

หากสังเกตไม้ไผ่ ที่นายสุริยกมลเก็บมาใช้ในการสร้างบ้าน จะเห็นได้ว่า มีร่องรอย ของการเกาะของหอย และเพลียงทะเลที่เกาะติดอยู่ตามไม้ไผ่ และถูกคลื่นซัดลอยมา ในส่วนของเชือกที่นำมาใช้ในการมัดไม้ไผ่นั้น จะสังเกตเห็นได้ว่าบ้านที่สร้างจะมีเสื้อหลากหลายสีสันหลากหลายขนาด ซึ่งก็เก็บเอามาจากในท้องทะเลที่ เรือประมงทิ้งไว้ บางเส้นก็เป็นเชือกเส้นใหญ่ ที่ขาดลอยอยู่ในทะเล เชือกเส้นสีขาวเล็กๆที่นำเอามากผูกแล้วมีความแข็งแรงนั้น ชาวประมงเรียกว่าเชือกมาน ดูเส้นเล็กแต่มีความเหนียวและแข็งแรงมากนายสุริยกมลก็จะเก็บเอามานำมามัดกับไม้ไผ่ เอามาตกแต่งบ้านดีกว่าลอยเป็นขยะอยู่ในทะเล ดีกว่ากองอยู่เป็นขยะตามเกาะ ต่างๆ เมื่อเห็นแล้วก็ดูไม่สวยงาม จึงเก็บมาใช้ประโยชน์ โดย

นายสุริยกมล เล่าต่อว่า การสร้างบ้านจากไม้ไผ่ที่เห็นอยู่นี้ต้องใช้ไม้ไผ่จำนวนมาก ตนเองก็เริ่มเก็บสะสม ทั้งเชือกและไม้ไผ่ ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม กับนายสุริยกมลว่าทำไมถึงไม่ใช้ตะปูในการสร้างบ้านเพราะทั้งหมดที่เห็นทั้งโครงสร้างและพื้นจะใช้ไม้ไผ่และใช้เชือกผูกทั้งสิ้นนายสุริยกมล บอกกับผู้สื่อข่าวว่าไม้ไผ่เป็นไม้ที่แห้งแล้ว และที่สำคัญ ด้านในของไม้ไผ่ จะมีความกลวง เพราะฉะนั้นหากใช้ตะปู จะไม่แข็งแรงและที่สำคัญ บ้านอยู่ติดกับน้ำทะเลจะทำให้ตะปูเป็นสนิมใช้งานได้ไม่ทนทาน ตนเองถึงเลือกที่จะใช้เชือก ในการมัดให้ไม้ไผ่ ติดกันรวมถึงโครงสร้างด้านล่าง ที่ใช้ไม้ไผ่ค้ำยันกันและใช้เชือกผูกมัดกันอย่าง หนาแน่นมีความแข็งแรง หากมองด้วยตาเปล่าอาจดูเหมือนไม้ไผ่ลำเล็กๆมัดเชือก คงไม่แข็งแรงเท่าที่ควรแต่หากลองได้ไปสัมผัสได้ขึ้นไปเดิน จะเห็นได้ว่า แทบจะไม่ขยับ เขยื้อน ด้วยการผูกเชือก ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกของชาวประมง และในส่วนของหลังคานอกเหนือจากตัวบ้านหลังแรกที่เป็นกระเบื้องแล้ว

ด้านนอกโดยรอบ รวมถึงพื้นที่ที่ใช้เป็นโฮมสเตย์ให้กับนักท่องเที่ยวได้พักผ่อนนั้นนายสุริยกมล ยังใช้ใบไม้ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าใบเหรง มาใช้ในการมุงหลังคา จากการสอบถามชาวบ้าน ในบริเวณนั้น พบว่าใบของต้นเหรง ต้องขึ้นไปตัดบนภูเขาสูง พบมากในพื้นที่อำเภอสวี ใบมีลักษณะไม่ใหญ่มากนัก แต่เรียกได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่เอาใบไม้มามุงเป็นหลังคาบ้าน ด้วยวิธีการมุมในลักษณะสลับฟันปลาจนทำให้ สามารถกันแดดกันฝนได้เป็นอย่างดีที่สำคัญ ไม่ร้อน หากใช้กระเบื้องหรือสังกะสีมุงหลังคา เชื่อได้ว่าไม่มีความคงทนเนื่องจากสังกะสีจะเป็นสนิมอุปกรณ์ที่ยึดกับกระเบื้องก็เป็นสนิท และที่สำคัญจะไม่ระบายความร้อน โฮมสเตย์เล็กๆ ที่ไม่ได้สะดวกสบายถูกสร้างขึ้นมาจากเศษขยะในทะเล และนำเอาความรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้าน มาผสมผสาน จึงทำให้เป็นบ้านที่พัก ให้กับนักท่องเที่ยว พี่อยากสัมผัสกับธรรมชาติ ที่พักแห่งนี้ไม่ได้มีเครื่องอำนวยความสะดวก หรือที่นอนที่สะดวกสบาย แต่หากใคร อยากมาสัมผัสธรรมชาติ โฮมสเตย์แห่งนี้ ตอบโจทย์ได้อย่างแน่นอน ซึ่งหากใครสนใจ สามารถติดต่อได้นายสุริยกมล หรือพี่โจ ได้ที่เบอร์ 093-7611342 เฟสบุ๊ค โกโจบ้านไม้ไผ่ ค่าที่พักคืนละ 200 บาท ถ้ามีอาหาร 3 มื้อ  800 บาท อาหารเป็นอาหารซีฟู๊ด  ความอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ แค่เพียงเดินลงจากโฮมสเตย์ก็มีอาหาร ให้คุณได้รับประทานแล้ว ในช่วงเย็นน้ำทะเลเริ่มลง ก็สามารถเดินไปหาหอยแครง หอยขาว หอยจาน หอยนางรม หอยเจาะ หอยจอก  จับปูดำ จับกุ้ง ขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาล แต่หากน้ำขึ้นเมื่อไหร่ เราก็แค่เหวี่ยงแห่ลงมาจากที่พัก ก็จะได้กินปลากระบอกสดๆ ปลาหมอข้างดำ และในช่วงฤดูกุ้งเคย เป็นกุ้งตัวเล็กๆที่นำเอามาทำกะปิ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่ารุนเคยก็สามารถรุนกันหน้าที่พักได้เลย หากใครอยากลองมาสัมผัสธรรมชาติ นอนฟังเสียงคลื่น เสียงหอย เสียงปลา เสียงลมแนะนำที่แห่งนี้ พร้อมจุดเช็คอินบนยอดต้นโกงกางที่มีความสูงประมาณกว่า 30 เมตร สามารถชมวิว 360 องศา ที่พักหลักร้อยวิวหลักล้าน แต่หากใครที่ยังติดความสะดวก สบาย ที่แห่งนี้คงไม่เหมาะ แต่หากใครอยากมาพักผ่อนหย่อยกายหนีความวุ่นวายมาอยู่กับธรรมชาติ ที่แห่งนี้เหมาะกับคุณ//

ภาพ-ข่าว ประสิทธิ์ ลีฬหคุณากร/ ชุมพร