กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม โดยในส่วนของ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนมชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และนครราชสีมาอุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

กรณีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพปัญหา ที่เกิดผลกระทบจากมรสุมดังกล่าว ณ หมู่บ้านท่าแห่ หมู่ 1 ต.ฆ้องชัยพัฒนา อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ พบว่าปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องหลายวันติดต่อกัน ส่งผลให้น้ำจากแม่น้ำชี เอ่อล้นตลิ่งไหลทะลักเข้าท่วมนาข้าวประชาชนตามพื้นที่แนวตลิ่ง กว่า 2,000 ไร่ นาข้าวเสียหายอย่างสิ้นเชิง

นายอำนาจ อำภะวา นายกเทศมนตรีตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย กล่าวว่า กรณีน้ำท่วมครั้งนี้ เทศบาลตำบลฆ้องชัยพัฒนา ได้เข้าช่วยเหลือเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ พื้นที่ได้รับผลกระทบกว่า 2,000 ไร่ ด้วยการสูบน้ำออกจากนาข้าวไปลง ที่กุดขี้นากเพื่อให้ไหลลงแม่น้ำชีอีกด้าน แต่น้ำก็ลดระดับลงไม่มาก เนื่องจากมีมรสุมเข้ามาเพิ่ม และยังได้ไหลท่วมถนน ที่เป็นเส้นทางเชื่อมจากหมู่บ้านท่าแห่ หมู่ 1 ต.ฆ้องชัย พัฒนา ไปยัง บ้านใคร่นุ่น ต.มะค่า อ.กันทรวิชัย จ.มหาสาคาม น้ำท่วมถนนสูงเกือบ 80 เซนติเมตร ทำให้การสัญจรระหว่างหมู่บ้านเป็นไปด้วยความลำบาก ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการสัญจรอย่างแสนสาหัส

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา เทศบาลตำบลฆ้องชัยพัฒนา ได้เสนองบประมาณ สำหรับการก่อสร้างถนนพร้อมพนังกั้นน้ำเส้นทางที่ได้รับผลกระทบนี้ในปีงบประมาณที่ผ่านมา ปรากฎว่าอนุมัติงบประมาณให้มาไม่ตรงที่เสนอไป จึงอยากจะวิ่งวอนขอให้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักงบประมาณ ช่วยพิจารณางบประมาณที่มีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในครั้งนี้ให้ตรงจุดที่เกิดปัญหาด้วย เนื่องจาก เมื่อถึงฤดูฝน ฤดูทำนา ชาวบ้านพื้นที่ ต.ฆ้องชัยพัฒนา ประสบปัญหา น้ำท่วมนาข้าวอย่างซ้ำซากมานานกว่า 20 ปี แต่ก็ยังแก้ไขปัญหาให้กลับชาวบ้านยังไม่ได้

ด้าน นางอารีย์ พูนเทกอง อายุ 72 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ เปิดเผยว่า ระหว่างเดินทางไปจับปลามาประกอบอาหาร ณ จุดที่น้ำท่วมนาข้าวว่า มีนาข้าวอยู่ 5 ไร่ ลงทุนทำนาปลูกข้าวกว่า 30,00 บาท แต่ถูกน้ำท่วมเสียหายก่อนใคร ไม่ทันได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแม้แต่ต้นเดียว ถูกน้ำท่วมเสียหายหมด ต้องอาศัยทำนาปังแทนจึงจะมีข้าวกินแต่ก็แลกกับค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เช่นเดียวกับ นางประหยัด คำมีแสง ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนาข้าว ได้ออกจับปลาพื้นที่น้ำหลากไหลท่วมนาข้าวว่า ตนทำนาปลูกข้าว จำนวน 1 ไร่ แต่ก็ถูกน้ำท่วมเสียหายหมดสิ้นไม่เหลืออะไร เหลือแต่เถียงนา (กระท่อมปลายนา)ด้านนางวิไลวรรณ กั้วนามน และนายชมเชย มาตจรุง ชาวนาทำนาปลูกข้าวบนที่สูง หรือนาดอน อำเภอนามน เปิดเผยว่า ปีนี้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล มีน้ำฝนตกลงมาเติมนาข้าวเป็นช่วงๆ  นาข้าวมีน้ำขังเต็มตลอดเวลา ต้นข้าวเติบโตสวยงาม อุดมสมบูรณ์ ในฐานะชาวนา อยากจะฝากถึงรัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องราคาปุ๋ยที่แพงมาก

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมต่อเนื่องมา ร่วม  20  ปีนี้เป็นพื้นที่นาข้าวด้านนอกพนังกั้นแม่น้ำชีที่ติดกับ ตลิ่งแม่น้ำชี ชาวนาต้องทำใจเสี่ยงดวงทุกปีในการทำนาฤดูฝน และจะสามารถทำนาให้ได้ผลผลิตเฉพาะฤดูแล้งนาปรังเท่านั้น

ภาพ-ข่าว อาทิตย์ จ.กาฬสินธุ์