ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   นางฮอม  อยู่ดี อายุ 68ปี  ผู้สูงอายุบ้านแม่ใส ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา รวมตัวกันอนุรักษ์  ทำเครื่องมือแซะ(ชนาง)หาปลาแบบชาวเหนือล้านนา โดยใช้ไม้ไผ่รวก นำมาแปรรูปจักรสานขึ้นรูปแบบต่างๆเพื่อใช้ในการหาปลาตามแหล่งน้ำลำคลอง  ที่มีการใช้กันมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันนับวันจะหาดูได้ยากยิ่ง เพราะไม่มีคนรุ่นใหม่สืบสานอนุรักษ์ไว้  ซึ่งปัจจุบันได้มีกลุ่มชาวบ้านผู้สูงอายุบ้านแม่ใส อ.เมืองพะเยา ได้ทำการอนุรักษ์ไว้ทั้งทำใช้และทำขาย ราคาพิเศษเพียงชิ้นละ50บาท และมีผู้สั่งทำแซะ ตลอดทั้งปี  ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุบ้านแม่ใสมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับแซะ หรือชนาง แบบโบราณ  เป็นเครื่องมือที่ทำมาจากไม้ไผ่ รวก นำมาสานให้เป็นรูปสี่เหลียมผืนผ้าก้นลึก มีขนาดเล็ก-ใหญ่ แล้วแต่ความต้องการทำขึ้นรูป มีความยาวตั้งแต่ 80 เซนติเมตร กว้าง 60 เซนติเมตร  นำมาขึ้นรูปประกอบกับโครงไม้ไผ่ ที่ทำเป็นด้ามจับและขอบเพื่อความแข็งแรง พอประกอบเสร็จจะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมมุมฉาก ลักษณะคล้ายพลั่วตักดินสานเป็นลายตะแกรงถี่ ปากแบนกว้างมีด้ามสำหรับถือ ใช้จับปลาตามริมฝั่ง หรือตามดงหญ้า  ในลำห้วย คลองหนองบึง ทุ่งนา การใช้แซะต้องถือด้ามด้วยมือข้างที่ถนัด อีกมือหนึ่งจับเชือกช่วยรั้งและดึงแซะ ขึ้นเพื่อหาปลาสามารถหาจับปลา กุ้ง ได้ทุกชนิด 

นางฮอม  อยู่ดี อายุ 68ปี  ผู้สูงอายุบ้านแม่ใส เล่าว่า  สมัยก่อนจะนำชนางหรือ(แซะ)ไปช้อนหาปลากันตามทุ่งนาแต่เดียวนี้ไม่มีใครทำแล้วและตนเองได้สืบทอดการจักรสานแซะหรือชนางมาจากปู่ย่าตายาย  จนถึงปัจจุบัน ไม่คอยมีใครทำแซะ เครื่องมือหาปลา แล้ว แต่ทางกลุ่มผู้สูงอายุบ้านแม่ใสก็ได้รวมตัวกันจักรสาน ทำ แซะ ชนาง ข้อง ไซ ตะกร้า และอื่นๆ ที่ทำด้วยไม้ไผ่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และทำขายที่ตลาดและได้มีคนสนใจชื้อและมียอดสั่งชื้อแทบทำไม่ทันชึ่งแต่ละวันจะทำแซะได้วันละ 1-2 ชิ้น ขายราคา  อันละ 50 บาท สามารถสร้างรายได้ในช่วงนี้เป็นอย่างดี เพราะเป็นช่วงฤดูฝน  จะมีปลาเยอะ  อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์เครื่องมือหาปลา ของชาวเหนือล้านนา ที่นับวันหาดูได้ยาก

ภาพ-ข่าว ปัณณวิชญ์ อยู่ดี จ.พะเยา